Inverted Yield Curve สัญญาณเตือนให้กลัว หรือ เตือนให้ระวัง

  • Shares :

 

สวัสดีครับเพื่อนๆนักลงทุน และแล้วสิ่งที่ตลาดการเงินพูดถึงกันตั้งแต่ต้นปีก็เกิดขึ้น นั่นก็คือ Inverted Yield curve

 

โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield) สหรัฐฯ อายุ 2 ปี ปิดที่ 1.5332 และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปิดที่ 1.5269 ซึ่ง โดยปกติ Yield ของพันธบัตรอายุสั้นควรจะ น้อยกว่า พันธบัตรอายุยาว (เพื่อชดเชยความเสี่ยงของผู้ที่ถือพันธบัตรอายุที่ยาวกว่า) เหตุการณ์ที่ Yield ตัวยาว น้อยกว่า Yield ตัวสั้น แบบนี้ทางการเงินเราเรียกกันว่า "Inverted Yield Curve" ครับ

 

 

Inverted Yield Curve เป็นที่พูดถึงกันมากในวงการการเงินตั้งแต่ต้นปี

 

เพราะเหตุการณ์แบบนี้แสดงว่านักลงทุนหลายๆราย กำลังกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจว่าอาจจะเกิดภาวะถดถอย (Recession)  ซึ่งเป็นภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีเอาซะมากๆ ทุกอย่างฝืดเคืองไปหมด ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลงอย่างรุนแรง คนที่ลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นก็อาจจะขาดทุนได้มาก  ด้วยความกลัวแบบนี้ นักลงทุนจึงวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยโดยการเข้าไปซื้อพันธบัตรอายุยาวแทน ถึงแม้ผลตอบแทนจะต่ำ แต่ก็มีความปลอดภัย จนทำให้สภาพคล่องระยะสั้นตึงตัว และนักลงทุนก็เลยยึดเอาการเกิดภาวะ Inverted Yield Curve เป็นตัวชี้วัดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั่นเอง

 

แต่จากข้อมูลในอดีต หลังจากการเกิด Inverted Yield Curve ยังมีเวลาอีกซักระยะกว่าจะเกิด Recession จากภาพด้านล่างในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี (ตั้วสั้น) ให้ผลตอบแทนมากกว่าพันธบัตร 10 ปี (ตัวยาว) หรือ Inverted Yield Curve เกิดขึ้นทั้งหมด 7 ครั้ง หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กว่าที่โลกจะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริง ใช้เวลาโดยเฉลี่ยนานถึง 15.7 เดือนเลยทีเดียว

 

 

 

 

และนอกจาก Inverted Yield Curve นั้นยังมีตัวชี้วัดการเกิด Recession ตัวอื่นอีกด้วย  

 

  • ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของกำไรของบริษัทจดทะเบียน

  • การเพิ่มขึ้นของการว่างงาน

  • การลดลงของการก่อสร้างบ้านใหม่ ฯลฯ

โดยภาพด้านล่างอธิบายว่าตัวบ่งชี้เหล่านี้เปลี่ยนแปลงขนาดไหน และหลังจากเกิดขึ้น นานเท่าใดก่อนที่เศรษฐกิจจะเกิดการถดถอยจริง

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ทุกๆครั้งที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักกินเวลาไม่นาน แต่ในทางกลับกัน หลังช่วงถดถอยผ่านพ้นไป ก็จะเป็นช่วงเวลาของเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว ซึ่งมักกินเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายปี พูดอีกอย่างก็คือ ช่วงเวลาที่เลวร้ายจะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ แต่ช่วงเวลาที่สดใสเกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนานกว่ามากนั่นเอง

 

 

 

 

ภาพด้านบนแสดงวัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐฯช่วง 60 ปีที่ผ่านมา สีฟ้าคือช่วงเศรษฐกิจขยายตัว และ สีม่วงคือช่วงถดถอย ในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐฯได้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากกว่า 10 ครั้ง ซึ่งโดยเฉลี่ยภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะกินระยะเวลาสั้นๆ เพียง 11 เดือน เศรษฐกิจหดตัวเฉลี่ย 1.8%  แต่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว กินระยะเวลาเฉลี่ยยาวนานถึง 67 เดือน และขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 24.3% เลยทีเดียว

 

 

ในอดีต ทุกๆครั้งที่เศรษฐกิจถดถอยอาจสร้างความเจ็บปวด แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจหลังจากนั้นก็ยาวนานพอที่จะเยียวยาความเจ็บปวดนั้น และสร้างการเติบโตครั้งใหม่ให้แก่โลกได้เสมอมาครับ

 

 

เราเรียนรู้มากมายจากข้อมูลในอดีต จากการเก็บสถิติย้อนหลัง

 

แต่ถ้าคิดว่าเรารู้มากพอ และหวังว่าจะคาดการณ์อนาคตได้ เราอาจคิดเข้าข้างตัวเองมากเกินไป ยกตัวอย่างเช่นใน 7 ครั้งที่เกิด Inverted Yield Curve ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โลกอาจใช้เวลาตั้งแต่ 8 เดือน ถึง 24 เดือนก่อนเกิดการถดถอยจริง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่แตกต่างกันพอดู คงเป็นไปได้ยากเหลือเกินที่เราจะคาดเดาได้อย่างแม่นยำและลงทุนได้อย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงท้ายๆก่อนเศรษฐกิจถดถอย และหลบเลี่ยงออกมาได้แบบไม่ได้รับความเสียหาย เพราะหากเราคาดการณ์ช่วงเวลาถดถอยผิด เราอาจพลาดโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนไปอย่างน่าเสียดาย

 

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องการจะสื่อสารผ่านบทความนี้คือ ทุกครั้งหลังจากที่เศรษฐกิจโลกถดถอย โลกก็จะเกิดการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด

 

เกิดการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และกลับมาเติบโตยิ่งใหญ่กว่าในอดีตทุกครั้งไป ดังนั้นหากเรามีความเข้าใจในธรรมชาติของวัฏจักรเศรษฐกิจ ที่มีการถดถอยเพื่อกลับไปเฟื่องฟูครั้งใหม่ต่อไป เราอาจจะมั่นใจในการลงทุนระยะยาวมากขึ้น ลงทุนให้ยาวนานพอที่จะผ่านทั้งช่วงเวลาเลวร้ายที่มักเกิดขึ้นสั้นๆ และผ่านทั้งช่วงเวลาสดใสที่มักกินเวลาต่อเนื่องยาวนาน และหากประกอบกับการมีวินัยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เราก็คงมั่นใจได้ว่าเราจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้ไม่ยากแน่นอนครับ

 

อ้างอิงข้อมูลจากบทความจาก Savvyinvestor.net


บทความน่าสนใจอื่นๆ