QE Effects

  • Shares :

บทความ ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564

 

สวัสดีครับทุกท่าน เชื่อว่าช่วงนี้คงได้ยินความกังวลเรื่องการ “ปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตร” หรือ “การลด QE” ของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) กันมาบ้าง ผมเองก็สงสัยเช่นกันว่าจริงๆแล้ว มันกระทบตลาดในช่วงสั้น และภาพยาวมากน้อยแค่ไหน จึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อค่อยๆเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้กับทุกท่านครับ

 

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับ “QE” กันก่อน

 

QE ย่อมาจาก Quantitative Easing หรือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ

เป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับการถดถอย ซึ่งเครื่องมือนี้ทำงานโดยการที่ธนาคารกลางเข้ามาซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) ต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล, สินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำ (MBS) หรือ หุ้นกู้ภาคเอกชน เป็นต้น

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ลองจินตนาการว่า เมื่อธนาคารกลาง “ซื้อ” ก็คือการ “จ่าย” เงินออกไป เงินก็จะไหลเข้าสู่เศรษฐกิจ ซึ่งเงินเหล่านั้นต้องมีที่อยู่ ด่านแรกเลยเนี่ยมักเป็นสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่จะนำเงินออกไปปล่อยสินเชื่อต่อให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโต และบางส่วนอาจไหลเข้าไปสู่สินทรัพย์การเงิน อย่าง “ตลาดหุ้น” ได้

 

source : bloomberg

 

ในอดีตที่ผ่านมา พบว่าขนาดสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางถือครอง มีความสัมพันธ์กับ Index Performance จึงไม่แปลกที่ถ้า QE ถูกลด หรือยกเลิก ในช่วงสั้นๆก็คงกระทบตลาดหุ้นได้บ้าง แต่จุดที่สำคัญคือ อย่าลืมว่า มันเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ การเลิกใช้มัน หมายถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อกำไรของบริษัท ไม่ใช่หรือ?

เดี๋ยวเรานั่ง Time Machine ไปพร้อมกันครับว่า QE รอบก่อนๆ หลังจบลงแล้ว ตลาดตอบรับเชิงลบแค่ไหน ใช้เวลาฟื้นตัวนานหรือไม่ ควรกังวลมากขนาดนั้นเลยหรือ?

 

QE1

 

source : bloomberg

 

QE1 เกิดในช่วงปี 2008 – 2010 จากวิกฤตซับไพรม์ (Subprime Crisis) ที่มีครัวเรือน และเอกชนจำนวนมากกู้ยืมเงินเกินตัว รวมไปถึงเงินเฟ้อที่เร่งตัวอย่างมาก ทำให้ในที่สุดจึงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น โดยธนาคารกลางได้ออกมาประกาศมาตรการนี้ครั้งแรกใน NOV 2008 แต่ ณ เวลานั้น ตลาดยังไม่รู้จักเจ้า QE ทำให้ S&P500 ติดลบลงไปหลังประกาศอีก 30% แต่ต่อมาก็ค่อยๆฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ ซึ่งถ้าวัดผลตอบแทนตั้งแต่ต้นจนจบ QE รอบนี้ S&P500 บวกไป 26% แต่ถ้าวัดจากจุดต่ำสุดนั้น S&P500 บวกไปถึง 85% ทีเดียว

แต่ในระหว่างการทำ QE รอบนี้ ก็มีการหยุดมาตรการดังกล่าวไป 1 ครั้ง ในช่วง JUN 2010 ซึ่งตลาดตอบรับในเชิงลบทันที S&P500 ลบลงไป 15.6% แต่สุดท้าย FED ก็ตัดสินใจกลับมาทำ QE ต่อใน AUG 2010 และสิ้นสุด QE1 จริงใน NOV 2010 ครับ

 

QE2

 

source : bloomberg

 

QE2 นั้น เกิดขึ้นใน NOV 2010 ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องมาจาก QE1 ทันที โดยธนาคารกลางสหรัฐฯได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ามาตรการนี้ จะจบลงใน Q2/2011 ซึ่งผลตอบแทนของ S&P500 ครั้งนั้นบวกไป 8.6% และได้ ติดลบ 19% หลังจบ QE2 แต่ก็สามารถกลับมาทำ new high ได้ภายในครึ่งปีหลังจากนั้น

 

QE3

 

source : bloomberg

 

QE3 เกิดขึ้นระหว่างช่วง SEP 2012 – OCT 2014

  • FED ประกาศ QE3 ครั้งแรกในวงเงิน $40 Billion/Month ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ S&P500 -7.7%

  • หลังจากนั้นในเดือน DEC 2012 ได้ออกมาประกาศเพิ่มวงเงิน ทำให้ S&P500 ฟื้นกลับขึ้นมา +17%

  • ก่อนที่ในเดือน JUN 2013 คุณ Bernanke ได้ส่งสัญญาณ ว่า “น่าจะเริ่มมีการพูดคุยในประเด็น Tapering”  ทำให้ S&P500 -4.8%

  • ซึ่ง FOMC ได้เอาเรื่อง Tapering เข้าที่ประชุมจริงๆ ในเดือน SEP 2013 ทำให้ S&P500 -4%

  • FED เริ่ม Tapering QE จริงๆ ในเดือน JUN 2014 ทำให้ S&P500 ปรับตัวลงประมาณ 5%

  • และสิ้นสุด QE3 ในเดือน OCT 2014 ตลาดตอบรับเชิงลบ S&P500 -7.4%

แต่ข้อสังเกตคือระหว่างที่ค่อยๆลด QE ลง ตลาดก็สามารถปรับตัวขึ้นเรื่อยๆได้เช่นกัน และเมื่อ QE สิ้นสุดลง ก็สามารถกลับขึ้นมาทำ new high ใหม่ได้ โดยใช้เวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น

 

AFTER QE3

 

source : bloomberg

 

หลังจากจบ QE3 ในปี 2014 ตลาดก็เป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปี 2015 – 2020 โดยอาจมีการปรับฐานแรงๆบ้างในปี 2018 จากประเด็น Trade War แต่ ณ ตอนนั้น ประธานาธิบดี Donald Trump ก็ได้ทำการปรับลด Corporate Tax ลง ตลาดจึงค่อยๆกลับขึ้นมาได้ และมาปรับตัวลงแรงอีกครั้งในปี 2020 เมื่อโลกเผชิญวิกฤตโรคระบาดอย่าง COVID-19

 

QE4

 

source : bloomberg

 

QE4 จึงได้เกิดขึ้นในเดือน MAR 2020 ซึ่งตลาดก็ตอบรับเชิงบวกอย่างรวดเร็ว โดย ณ ปัจจุบัน S&P500 บวกขึ้นมาแล้วถึงประมาณ 76% ครับ

 

 

จากตารางด้านบน จะเห็นว่า การหยุด QE ทำให้ตลาดปรับตัวลงในระยะสั้นได้จริง ซึ่งอยู่ในกรอบระหว่างลบ 7-20% แต่ก็ใช้เวลาในการฟื้นตัวไม่นาน นักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญกับการเลือกลงทุนในบริษัทฯ หรือ เทรนด์การลงทุนในระยะยาวที่สอดคล้องไปกับโลกอนาคตมากกว่าความผันผวนที่อาจจะเกิดในช่วงสั้นๆ อย่างไรก็ดี ผมก็ไม่เถียงว่า ความผันผวนระยะสั้นเหล่านั้นอาจเป็นโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการ Trading หรือ Rotation ได้เช่นกัน ทั้งนี้จึงควรพิจารณาการจัดสรรเงินลงทุนของแต่ละท่านให้เหมาะสมกับตัวเองเป็นหลักครับ

 

RATE HIKE

 

source : bloomberg

 

ไหนๆเราก็พูดถึงการทำ QE ไปแล้ว จะไม่พูดเรื่องดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างไร เพราะเมื่อ QE จบลง ก็เป็นสัญญาณว่าดอกเบี้ยมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งถ้าเราดูภาพด้านบนจะเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2015 ดอกเบี้ยมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นชัดเจน แต่ตลาดก็ไม่ได้ปรับตัวลงแต่อย่างใด ในขณะที่ทองคำ สินทรัพย์ที่มักถูกมองว่าจะต้องปรับตัวลงถ้าดอกเบี้ยขึ้น ก็ไม่ได้ปรับตัวลงเช่นเดียวกัน แต่เป็นการเคลื่อนไหวออกข้างแบบจำกัดในกรอบราคา 10ปี ครับ

 

BOND YIELD

 

source : bloomberg

 

อีกประเด็นที่ผมอยากเสริมคือเรื่องของ Bond Yield ที่ปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และถูกใช้เป็นเหตุผลว่าส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในช่วงก่อนหน้านี้ อาจจะไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากหากดึงข้อมูลตั้งแต่ปี 2007 ออกมา พบว่า Bond Yield มีการปรับขึ้น ปรับลงในบางช่วงเวลาได้ แต่แทบไม่ได้กระทบกับตลาดหุ้นในระยะยาวเลย ในขณะที่ตลาดหุ้น กับขนาดของ GDP กลับมีความสัมพันธ์กันมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

 

โดยสรุป QE เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ การลด หรือ หยุด QE นั้นสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ในระยะสั้น side effect ของมันอาจกระทบตลาดได้บ้าง แต่ภาพยาว เมื่อเศรษฐกิจดี บริษัทจดทะเบียนก็ควรมีผลกำไรที่ดีด้วย ในที่สุดตลาดก็จะสะท้อนออกมาในราคาหุ้นได้เอง หน้าที่ของเราในฐานะนักลงทุนในกองทุนรวมจึงควรเลือกเทรนด์การลงทุนที่ล้อไปกับอนาคตให้เจอ และให้ผู้จัดการกองทุนนั้นๆช่วยทำหน้าที่บริหารพอร์ตให้เรา เราเพียงแค่เชื่อมั่นและอดทน เพื่อให้ตลาดสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า สมน้ำสมเนื้อ กลับมาให้เราครับ แต่ผมก็เข้าใจว่าแต่ละท่านมีสไตล์การลงทุนต่างกัน ความผันผวนระยะสั้นก็เป็นโอกาสการลงทุนได้ ดังนั้นจุดสมดุลย์ในการบริหารพอร์ตให้เหมาะสมกับเรา จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นนั่นเองครับ

 

สุดท้ายนี้ถ้าท่านมองหาพอร์ตการลงทุนที่ล้อไปกับอนาคต มีการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ และภูมิภาคอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งมีทีมคอยติดตามให้ปรับพอร์ตอยู่เสมอ ลองเลื่อนลงไปดู รายละเอียดของ Modelportfolio ทั้ง 5 บน Krungsri Capital iWEALTH ของเราได้เลย


สนใจซื้อแผนการลงทุน

EASYGOING
ลงทุนอุ่นใจ ไลฟ์สไตล์ไร้กังวล

NEWBIE
ลงทุนสบาย กระจายความเสี่ยง

JOGGING
ลงทุนรู้รอบ ผลตอบแทนเติบโต

OPPORTUNITY
ลงทุนก้าวหน้า คว้าโอกาสจากทั่วโลก

YIELD
ลงทุนเพิ่มทรัพย์ รายรับต่อเนื่อง

บทความน่าสนใจอื่นๆ