สงครามรัสเซีย-ยูเครน คำว่าชนะมีอยู่จริงหรือ?

  • Shares :

บทความ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2565

 

 

ประเด็นที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจในขณะนี้คงหนีไม่พ้นปัญหาความไม่สงบระหว่างรัสเซีย และยูเครน เพราะทุกคนต่างได้รับผลกระทบกันหมด ไม่ว่าจะเป็นคนที่ลงทุนในตลาดหุ้น หรือไม่ได้ลงทุนก็ตาม ต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มากน้อยต่างกันไป ซึ่งเรื่องนี้จะจบเมื่อไร จะจบอย่างไร เหล่านี้คงเป็นประเด็นที่ยากจะประเมิน แต่ในเรื่องความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจนั้น คงจะพอมีภาพให้เห็นบ้าง 

 

 

โดยผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ น่าจะพอแบ่งได้เป็น 2 กรณีหลักๆ คือ

 

  1. ผลกระทบทางตรง

ประเทศหลักๆที่ได้รับผลกระทบทางตรง คงหนีไม่พ้นประเทศที่มีการค้าขาย และมีการลงทุนโดยตรงกับรัสเซีย และยูเครน เป็นสัดส่วนที่สูง รวมถึงประเทศที่มีชายแดนเชื่อมต่อกัน ซึ่งจะได้รับผละกระทบจากจำนวนผู้ลี้ภัยด้วย

 

  1. ผลกระทบทางอ้อม

อันนี้มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะทั้งรัสเซียและยูเครน ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์อันดับต้นๆของโลก ผลกระทบทางอ้อมนี้จะส่งผ่านมาในรูปแบบข้าวของที่แพงขึ้น เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น หรือที่เราเรียกว่า เงินเฟ้อ นั่นเอง เงินเฟ้อจะเป็นตัวที่ทำให้อำนาจซื้อของทุกคนลดลง หรือเรียกว่าทำให้คนจนลงทั้งๆที่รายได้อาจจะเท่าเดิม ผลกระทบจากเงินเฟ้อนี้ทุกประเทศได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า มากน้อยขึ้นกับสัดส่วนพลังงาน และอาหารมีผลต่อการคำนวณอัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศแค่ไหนนั่นเอง

 

 

กรณีฐาน (Base Case)

จากการประเมิน กรณีฐานความไม่สงบทางภูมิรัฐศาสตร์จะยังคงอยู่ต่อไปในไตรมาส 2  ละผ่อนคลายลงในครึ่งปีหลัง แต่มาตรการการคว่ำบาตรจะยังคงอยู่ บนสมมติฐานนี้โนมูระฯคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยทั้งปีที่ 108 เหรียญ ต่อ bbl

 

กรณีเลวร้าย (Worst Case)

ความไม่สงบทางภูมิรัฐศาสตร์จะยังคงอยู่ต่อไปใน ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 และผ่อนคลายลงในไตรมาสสุดท้ายของปี บนสมมติฐานนี้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยในไตรมาส 2 และ 3 ที่ 140 เหรียญ และเฉลี่ยทั้งปีที่ 125 เหรียญ ต่อ bbl

 

ผลกระทบจากกรณีฐาน

 

  • ทั้งรัสเซียและยูเครนจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า Stagflation อย่างรุ่นแรงและยาวนาน (stagflation คือ ภาวะที่การเติบโตชะลอลง แต่เงินเฟ้อสูงขึ้น อธิบายง่ายๆคือ ภาวะที่รายได้ลดลง แต่ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้นไปหมด) เป็นผลมาจากต้นทุนทางสงคราม และ มาตรการการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ 

 

  • ประเทศที่ได้รับผลกระทบทางทางเศรษฐกิจรองลงมาจากสงคราม คงหนีไม่พ้นประเทศในฝั่งยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่มีชายแดนเชื่อมต่อกัน มีการค้าขายระหว่างกัน ที่มากไปกว่านั้นคือยุโรปยังเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ในสัดส่วนที่สูงถึง 60% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นี่เป็นสาเหตุที่การคว่ำบาตรธุรกิจพลังงานในรัสเซียจากประเทศในกลุ่มยูโรโซนอาจทำได้ไม่ง่ายนัก  นอกจากนั้นยุโรปจะต้องเร่งผลักดันพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อชดเชยการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียนั่นเอง ซึ่งจากสถานการณ์นี้ ในระยะยาวน่าจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจที่เรียกว่า Renewable Energy อยู่พอสมควร

 

 

  • ในฝั่งของสหรัฐอเมริกาต้องบอกว่าได้รับผลกระทบทางตรงจำกัด เนื่องจากสหรัฐเองมีการค้ากับทั้งรัสเซียและยูเครนไม่มากนัก แต่ผลกระทบทางอ้อมคงหนีไม่พ้นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอาจจะส่งผลกดดันให้ธนาคารกลางต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และหากสงครามลากยาวจนกระทบเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของสหรัฐ ก็คงส่งผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ แต่ไม่ใช่ว่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสหรัฐจะมีแต่ด้านลบ การที่ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจพลังงานในสหรัฐมีการลงทุนเพิ่มเพื่อเร่งผลิตพลังงานทดแทนพลังงานที่หายไปจากรัสเซียนั่นเอง

 

 

  • ในฝั่งเอเชีย พี่ใหญ่อย่างจีน ผลกระทบที่ได้รับมีทั้งบวกและลบ ถ้าพูดถึงด้านบวกจะเป็นเรื่องที่รัสเซียต้องหันมาพึ่งพาจีนเพิ่มขึ้นพอควร ไม่ว่าจะเป็นการหันมาใช้ระบบการชำระเงินของจีน CIPS แทนระบบ SWIFT การหันมาขายน้ำมันให้จีนทดแทนประเทศที่ประกาศคว่ำบาตร และแน่นอนหากจีนจะซื้อต้องแลกมาด้วยเงื่อนไขที่ว่า ราคาขายต้องต่ำกว่าราคาตลาด และรัสเซียก็จำเป็นจะต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากจีนเช่นกัน แต่ผลด้านลบต่อจีนนั้น ก็คงหนีไม่พ้นต้นทุนต่างๆที่สูงขึ้น เช่นต้นทุนของค่าขนส่ง เพราะการขนส่งจากรัสเซียมาจีนนั้น ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งทางพื้นดิน ซึ่งต้นทุนสูงกว่าการขนส่งทางเรือนั่นเอง หักกลบกันแล้ว จีนจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้จำกัด 

 

 

  • ประเทศอื่นๆส่วนใหญ่ก็จะได้รับผลจากต้นทุนที่สูงขึ้นกันถ้วนหน้า ประเทศที่มีพลังงาน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ของตัวเองก็จะโชคดีหน่อย เพราะได้ประโยชน์จากราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนประเทศที่พึ่งพาพลังงานจากนอกประเทศ ก็เจ็บตัวไปตามกัน มากน้อยขึ้นกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

 

ทั้งนี้สงครามจะจบอย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาด ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เราต้องตรวจดูพอร์ตการลงทุนของตัวเองให้ดีว่า เรากระจายการลงทุนถูกต้องหรือไม่ มีสินทรัพย์ไหนที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไปในพอร์ตการลงทุนของเราหรือเปล่า พิจารณาว่าสินทรัพย์ไหนที่จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพราะการกระจายการลงทุนที่ดีในภาวะที่ตลาดผันผวน จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนของเราไม่เหวี่ยงมากจนทำให้เราต้องคอยกังวลนั่นเอง

 

แต่ถ้าคุณมีข้อจำกัดด้านเวลา ไม่มีเวลาติดตาม หรืออยากให้มีคนคอยจัดการเรื่องสัดส่วนเหล่านี้ให้ แผนการลงทุนของ Krungsri Capital iWEALTH อาจเป็นคำตอบ เพราะมีให้คุณได้เลือกให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้ และมั่นใจได้ว่ามีการจัดสัดส่วนกระจายไปหลากหลายสินทรัพย์ และภูมิภาคทั่วโลก ในกองทุนที่คัดสรรมาแล้วนั่นเอง


สนใจซื้อแผนการลงทุน

EASYGOING
ลงทุนอุ่นใจ ไลฟ์สไตล์ไร้กังวล

NEWBIE
ลงทุนสบาย กระจายความเสี่ยง

JOGGING
ลงทุนรู้รอบ ผลตอบแทนเติบโต

OPPORTUNITY
ลงทุนก้าวหน้า คว้าโอกาสจากทั่วโลก

YIELD
ลงทุนเพิ่มทรัพย์ รายรับต่อเนื่อง

บทความน่าสนใจอื่นๆ