ประเมินพิษ COVID-19 และผลกระทบการลงทุน

  • Shares :

บทความ ณ วันที่ 8 เมษายน 2563

 

 

 

 

เป็นเวลานานกว่า 3 เดือนแล้วที่เราต้องอยู่กับโรคระบาดที่ยังไม่มียารักษา ซึ่งต้องยอมรับว่าโรคระบาดรอบนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนมากกว่าครั้งไหนๆ ถึงอย่างนั้นเมื่อมีจุดเริ่มต้น ก็ต้องมีจุดสิ้นสุด แต่จะสิ้นสุดยังไง? ใช้เวลานานแค่ไหน? ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนมากน้อยอย่างไร? และที่สำคัญ จะทำอย่างไรกับพอร์ตการลงทุนดี !? คงเป็นสิ่งที่หลายๆคนอยากรู้คำตอบ (บทความนี้อ้างอิงบางส่วนจากบทวิเคราะห์ของโนมูระฯ)

 

ก่อนอื่นเราคงต้องประเมินสถาณการณ์ การแพร่ระบาดก่อนว่าจะลุกลาม หรือลดลงอย่างไร ซึ่งโนมูระฯจะขอแบ่งความเป็นไปได้ ออกเป็น  3 กรณี ได้แก่

 

  • กรณีที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด (Base Case) : จำนวนผู้ติดเชื้อ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ภายในกลางเดือนเมษายน เนื่องจากหลายๆประเทศเริ่มมีมาตรการ Lock Down และ Social Distancing อย่างเข้มงวด

 

 

ในกรณีนี้คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะลงลึก เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างหยุดชะงักอย่างกระทันหัน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม สายการบิน หรืออุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ  แต่การลงลึกรอบนี้จะกินเวลาไม่นาน  และเกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจไม่มากนัก  เพราะหากควบคุมการแพร่ระบาดได้ไว กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆก็จะค่อยๆฟื้นตัวกลับมาได้ไม่ยาก เนื่องจากคนยังมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยอยู่  

 

โดยโนมูระคาด Global GDP ปี 2020 จะหดตัว -4.0% และกลับมาฟื้นตัวที่ 5.2% ในปี 2021 ภายใต้มีสมมติฐานว่า มีการใช้ระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จนถึงปลายเดือน เม.ย.นี้ ในแหล่งที่มีการระบาด ของ COVID-19 ก่อนจะเริ่มผ่อนปรน ซึ่งภาคธุรกิจและภาคการบริการจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาใน Q3 และ Q4  มีการใช้นโยบายการเงิน และการคลัง จากธนาคารกลาง และรัฐบาลทุกประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่อง จนเกิดการผิดนัดชำระหนี้ และสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่ง

 

หากเป็นไปตามกรณีฐานนี้ ก็คาดว่าตลาดหุ้นได้ซึมซับข่าว ความกังวลของนักลงทุน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจรวมถึงแรงกดดันต่อกำไรของบริษัทไปมากระดับหนึ่งแล้ว สำหรับท่านที่อยากเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น ก็น่าจะเป็นจังหวะในการมองหาประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ไว กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับตัวได้ก่อน  ซึ่งก็คงจะหนีไม่พ้นประเทศจีน หรืออาจจะเลือกประเทศที่มีมาตรการอัดฉีดเงินแบบไม่จำกัดอย่าง สหรัฐอเมริกา ก็ได้ ส่วนประเทศที่อาจจะต้องชะลอไปก่อน ก็คงจะเป็นในกลุ่มยุโรป เนื่องจากปัญหาหนี้ของหลายๆประเทศอาจเป็นข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพอควร ถ้าจะเลือกหุ้นรายตัว คงต้องดูหุ้นที่ภาระหนี้น้อยๆ มี Free Cash Flow ที่ดี เพราะเป็นหุ้นที่จัดว่าสายป่านยาว ในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงนั่นเอง

 

“สำหรับกรณีฐานนี้ ก็อยากให้ทุกท่านเผื่อใจสำหรับการระบาดรอบสองไว้ด้วย ว่าอาจจะมีกลับมาให้ได้กังวลอีกรอบ แต่ถึงอย่างนั้น หลายๆประเทศก็น่าจะพอรับมือกันได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีแนวทางปฏิบัติมาแล้ว”

 

 

  • กรณีดี (Best Case) : จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ของอเมริกา และยุโรปลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

การผ่อนปรนระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เริ่มเกิดขึ้นกลางเดือนเมษายนนี้ มีการผลิตยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำได้สำเร็จ  มีการใช้นโยบายการคลัง และการเงินอย่างเต็มที่ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ไวที่สุด

 

กรณีนี้ภาคธุรกิจและภาคบริการจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวใน Q2  และโนมูระฯคาด Global GDP จะหดตัวแค่  -2.2% และคาดว่าจีน ยังคงมีการเติบโต ที่  +1.5% โดยการฟื้นตัวในกรณีนี้จะเป็นไปอย่างยั่งยืน

 

 

  • กรณีที่แย่ (Bad case) : จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายๆประเทศมีความล้มเหลวในการทำ Social Distancing

 

 

กรณีนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะลงลึก และหยุดชะงักเป็นเวลานาน การใช้นโยบายการเงิน และการคลังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาการขาสภาพคล่อง และไม่สามารถดึงความเชื่อมันทางเศรษฐกิจให้กลับมาได้ ทำให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัวอย่างหนัก และเกิดวิกฤตธนาคารพาณิชย์ตามมา การว่างงานอยู่ในระดับสูงและยืดเยื้อยาวนาน และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคระบาดรอบใหม่ที่ศูนย์กลางการแพร่ระบาดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

 

ในกรณีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวมากถึง  -6.9% ซึ่งมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจในทุกๆครั้งที่ผ่านมา ตลาดการเงินมีโอกาสที่จะทรุดลงอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง การปรับตัวลดลงถึง 35% ของตลาดหุ้นที่ผ่านมา อาจยังไม่สะท้อนถึงความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะโรคระบาดรอบนี้ทุกประเทศทั่วโลกล้วนได้รับผลกระทบกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ทางโนมูระฯ ยังคงติดตามสถาณการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากแนวโน้มของการแพร่ระบาด ไม่เร่งตัวขึ้นจากปัจจุบัน โอกาสที่จะเกิด Bad Case ก็เป็นไปได้ไม่มากนัก

 

 

“หากเราไม่อยากให้โลกเข้าสู่ Bad Case เราควรจะให้ความร่วมมือในการรักษาระยะห่าง อดทนช่วงสั้นๆ แล้วเราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน

 

#ใส่หน้ากากเข้าหากัน

 

#อยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ


สนใจซื้อกองทุน

KFACHINA-A

กองทุนเปิดกรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า

บทความน่าสนใจอื่นๆ